โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

Search
Close this search box.

หน่วยเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ฝ่ายรังสีวิทยา

EN Name...

สร้างเสริมคุณภาพชีวิตและสำนึกที่ดีต่อสังคมของบุคลากร ผลิตผู้เชี่ยวชาญและองค์ความรู้ เพื่อเป็นที่ยอมรับในระดับชาติและนานาชาติ

เวชศาสตร์นิวเคลียร์

Nuclear Medicine

สร้างเสริมคุณภาพชีวิตและสำนึกที่ดีต่อสังคมของบุคลากร ผลิตผู้เชี่ยวชาญและองค์ความรู้ เพื่อเป็นที่ยอมรับในระดับชาติและนานาชาติ

หน่วยไอโซโทปส์ แผนกรังสีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2502 ด้วยความช่วยเหลือของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างชาติ (IAEA) โดยส่ง Mr. Norman Veall แห่ง Guy’s Hospital, London เข้ามาปฏิบัติงานอยู่ในประเทศไทย ในฐานะผู้เชี่ยวชาญในการใช้สารเรดิโอไอโซโทปส์ในทางการแพทย์ โดย Mr. Norman Veall ได้เป็นผู้แนะนำในการจัดหาเครื่องมือ วางโครงงาน และช่วยเหลือในการปฏิบัติงานอยู่ชั่วระยะหนึ่ง เมื่อเริ่มงานตอนแรกนั้น ทางแผนกรังสีวิทยาไม่มีงบประมาณสำหรับตั้งหน่วยไอโซโทปส์เลย โอรสและธิดา ของ ม.ร.ว. โต จิตรพงศ์ ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ได้บริจาคเงินให้ซื้อเครื่องมือที่จำเป็นสำหรับปฏิบัติงานไอโซโทปส์ คือ 1) อุปกรณ์ตรวจวัดที่ประกอบด้วยผลึก NaI ขนาด 1″ x 1″, 2) เครื่องวัดรังสีเบต้าจากตัวอย่างที่เป็นของเหลว และ 3) ขาตั้งสำหรับอุปกรณ์ตรวจวัด และเนื่องจากแผนกรังสีวิทยายังไม่มีสถานที่ จึงได้อาศัยส่วนหนึ่งของห้องชั้นล่าง ของโรงเรียนเทคนิคการแพทย์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เป็นห้องปฏิบัติการไอโซโทปส์ ทั้งนี้ด้วยความเอื้อเฟื้อของคณะเทคนิคการแพทย์ นอกจากเอื้อเฟื้อสถานที่แล้วยังได้กรุณาให้ยืม Scaler 1 เครื่อง ซึ่งเป็นเครื่องมือชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่งในการปฏิบัติงาน รวมทั้งเครื่องแก้วและอุปกรณ์อื่นๆในห้องปฏิบัติการอีกด้วย

งานเริ่มแรกของหน่วยไอโซโทปส์นี้ คือการตรวจการทำงานของต่อมไทรอยด์ และรักษาผู้ป่วยโรคต่อมธัยรอยด์เป็นพิษด้วยเรดิโอแอคตีฟไอโอดีน ตรวจหาสาเหตุโรคน้ำในช่องปอด โดยใช้เรดิโอแอคตีฟฟอสฟอรัส การใช้เรดิโอแอคตีฟโบรมีน ในการหา Extracellular Fluid ในคนปกติ และการหา Red Blood Cell Survival โดยใช้เรดิโอแอคตีฟโครเมี่ยม

กิจการได้ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ ทั้งในด้านบริการของโรงพยาบาล และด้านค้นคว้าวิจัย จึงจำเป็นต้องย้ายห้องปฏิบัติการจากชั้นล่างของตึกเทคนิคการแพทย์ไปอยู่ชั้น 3 เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2503 ซึ่งมีพื้นที่มากขึ้นเป็นห้องปฏิบัติการและห้องทำงานของหน่วยไอโซโทปส์ และประมาณช่วงเวลาใกล้เคียงกันนั้น Mr. J.D. Pearson แห่ง Guy’s Hospital London ผู้เชี่ยวชาญการใช้สารเรดิโอแอคตีฟทางการแพทย์อีกผู้หนึ่งของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างชาติ ได้เข้ามาช่วยเหลือและให้คำแนะนำประจำอยู่ที่หน่วยไอโซโทปส์ เป็นเวลาประมาณ 1 ปี ตลอดระยะเวลานี้ Mr. J.D. Pearson ได้ช่วยเหลือในด้านการปฏิบัติงาน แนะนำในการจัดหาเครื่องมือเพิ่มเติม ได้ให้การบรรยาย และสอนแพทย์ในโรงพยาบาลจุฬาฯ ในวิชาที่ว่าด้วยการใช้เรดิโอไอโซโทปส์ในทางการแพทย์ กิจการของหน่วยไอโซโทปส์ ได้ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ ทางแผนกรังสีวิทยาก็ได้รับงบประมาณจากมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เพื่อซื้อเครื่องมือใช้เพิ่มขึ้น

ปี พ.ศ. 2506 ได้มีการเปิดตึกใหม่คือ ตึกสวัสดิ์-ล้อม โอสถานุเคราะห์ เพื่อเป็นการเฉลิมฉลอง การเสด็จนิวัติกลับจากยุโรปและอเมริกาในปี 2503 ดังนั้นหน่วยเรดิโอไอโซโทปส์ จึงได้ย้ายมาอยู่ที่ตึกใหม่นี้ การที่มีพื้นที่ใช้สอยมากขึ้น ทำให้สามารถขยายงานทั้งด้านการตรวจรักษา และการวิจัยมากขึ้น ในปี 2507 จึงได้มีการใช้เรดิโอแอคตีฟโกลด์ชนิดเม็ดในการรักษามะเร็งของช่องปาก กระเพาะอาหาร และกระเพาะปัสสาวะ และใช้เรดิโอแอคตีฟไอโอดีนในการรักษามะเร็งของต่อมไทรอยด์ ในเวลาเดียวกันนั้นเครื่อง Rectilinear scanner (Picker®) เครื่องแรกของหน่วยก็ได้รับการติดตั้ง โดยใช้ในการตรวจไทรอยด์และตับเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งในช่วงนั้นทางหน่วยเรดิโอไอโซโทปส์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มีบุรุษพยาบาลทำหน้าที่ให้สารกัมมันตรังสีแก่ผู้ป่วยภายใต้การควบคุมของรังสีแพทย์ ควบคุมเครื่องอัพเทคและเครื่องสแกน และมีนักวิทยาศาสตร์ทำการตรวจเลือดในห้องปฏิบัติการ และช่วยดูแลงานสแกนภาพทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์

ในปี พ.ศ. 2518 หน่วยเรดิโอไอโซโทปส์ได้ย้ายมาอยู่ที่ตึกโปษยานนท์ และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา งานด้านการศึกษาวิจัยและการเรียนการสอนจึงสามารถขยายออกไปได้อย่างกว้างขวาง ส่วนงานด้านการรักษาพยาบาลนอกจากให้บริการแก่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์แล้ว ยังให้บริการแก่แพทย์จากสถาบันอื่นๆอีกด้วย และยังมีการเริ่มงานห้องปฏิบัติการ Radioimmunoassay และ Immunoradiometric assay ซึ่งให้บริการตรวจหาฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์ tumor marker และ serum iron นอกจากนี้ยังมีการติดตั้งห้องปลอดเชื้อเพื่อติดฉลากเม็ดเลือดแดงและเม็ดเลือดขาว และยังใช้สำหรับเตรียมและผลิตสารเภสัชรังสี ซึ่งสารเภสัชที่ผลิตได้เอง เช่น DTPA, DMSA, MDP, Phytate เป็นต้น

เมื่อมีการให้บริการที่หลากหลายขึ้น จึงได้มีการเปลี่ยนชื่อจาก “หน่วยเรดิโอไอโซโทปส์” เป็น “สาขาเวชศาสตร์นิวเคลียร์” เพื่อให้สามารถครอบคลุมวิทยาการที่หลากหลายมากขึ้น ในปี พ.ศ. 2529 เริ่มมีนักรังสีเทคนิคมาปฏิบัติงานทางด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์ เพื่อรองรับเทคโนโลยีใหม่ๆที่นำเข้ามาใช้ในสาขาฯ ซึ่งในขณะนั้นคือเครื่อง SPECT (Single Photon Emission Computed Tomography) ซึ่งได้ติดตั้งในปี พ.ศ. 2531 บุคลากรต่างๆได้รับการสนับสนุนให้ไปฝึกอบรมในระดับชาติและนานาชาติ (IAEA fellowship) ทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อเป็นกำลังในการพัฒนางานรังสีเทคนิคสำหรับงานเวชศาสตร์นิวเคลียร์ และในปี 2531 นั้นเองที่ทางสาขาเวชศาสตร์นิวเคลียร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เริ่มเปิดหลักสูตรการฝึกอบรมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์ เป็นครั้งแรกในประเทศไทยพร้อมกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ซึ่งทำให้วิทยาการทางด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์ในประเทศไทยเจริญก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น

เมื่องานบริการทางด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์มีมากขึ้น จึงมีความต้องการบุคลากรทางด้านนี้มากขึ้น ทางสาขาฯได้บรรจุแพทย์ที่จบการศึกษาเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์แทนแพทย์อาวุโสที่เกษียณไปอย่างสม่ำเสมอ สำหรับนักรังสีเทคนิคนั้น ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 โรงเรียนรังสีเทคนิค โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้ให้ทุนการศึกษาแก่นักศึกษาเพื่อเข้าศึกษาหลักสูตรรังสีเทคนิคเพื่อมาปฏิบัติงานในสาขาเวชศาสตร์นิวเคลียร์เมื่อเรียนจบอย่างต่อเนื่องทุกปี ทำให้สาขาเวชศาสตร์นิวเคลียร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มีศักยภาพทั้งการให้บริการและทางด้านวิชาการในงานเวชศาสตร์นิวเคลียร์ จนได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับทั้งในระดับชาติและนานาชาติ โดยในปี พ.ศ. 2556 และปี พ.ศ. 2560 สาขาเวชศาสตร์นิวเคลียร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้รับการรับรองมาตรฐาน Quality Management Audits In Nuclear Medicine (QUANUM) ครั้งที่ 1 และ 2 ตามลำดับ จากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA)

วิสัยทัศน์

สาขาเวชศาสตร์นิวเคลียร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ให้บริการด้วยมาตรฐาน มีคุณภาพและคุณธรรม บริหารจัดการให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ สร้างเสริมคุณภาพชีวิตและสำนึกที่ดีต่อสังคมของบุคลากร ผลิตผู้เชี่ยวชาญและองค์ความรู้ เพื่อเป็นที่ยอมรับในระดับชาติและนานาชาติ

พันธกิจ

สาขาเวชศาสตร์นิวเคลียร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มีพันธกิจ ดังนี้

  • ให้บริการการตรวจและรักษาด้วยวิธีการทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ อย่างมีมาตรฐาน ปลอดภัยและสามารถอ้างอิงได้
  • ผลิต แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาเวชศาสตร์นิวเคลียร์ นักฟิสิกส์การแพทย์และนักรังสีการแพทย์ ที่มีคุณภาพ เพื่อเป็นบุคลากรที่จะนำความรู้ความสามารถ ไปให้บริการแก่ประชาชนทั่วไป ไปให้ความรู้และสอนบุคลากรทางการแพทย์อื่น
  • เป็นสถานที่ศึกษาฝึกอบรมและดูงานของบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งในและต่างประเทศ

รางวัลและความภาคภูมิใจศูนย์

1. ด้านงานวิชาการ

เวชศาสตร์นิวเคลียร์ จุฬาฯ เป็นแกนนำในด้าน Nuclear Neurology ของประเทศ โดยได้จัด National Training Course in Nuclear Neurology  2 ครั้งในปี 2560 และ 2561,  ตีพิมพ์หนังสือ “เวชศาสตร์นิวเคลียร์ในโรคสมอง” ในปี 2561 ซึ่งเป็นหนังสือเวชศาสตร์นิวเคลียร์ในโรคสมองเล่มแรกของประเทศไทย และเป็นแกนนำในการจัดทำแนวเวชปฏิบัติการส่งตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ในระบบประสาท ในนาม สมาคมเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ร่วมกับ สมาคมประสาทวิทยา, ราชวิทยาลัยประสาทศัลยแพทย์ และสมาคมนักฟิสิกส์การแพทย์ ในปี 2562-2564

        เพื่อเป็นการเผยแพร่ความรู้แก่แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์  ทางสาขาเวชศาสตร์นิวเคลียร์ได้ร่วมมือกับสาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยาในการจัดทำตำราชือ “รังสีวิทยา: เวชศาสตร์นิวเคลียร์ รังสีรักษาและมะเร็งวิทยา” ซึ่งตำราเล่มนี้นับเป็นตำราภาษาไทยเล่มแรก ๆ ที่กล่าวถึงวิทยาการทางด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์ รังสีรักษาและมะเร็งวิทยา อย่างค่อนข้างสมบูรณ์ครอบคลุมโรคที่พบบ่อย เหมาะสำหรับนักศึกษาแพทย์หรือแพทย์ประจำบ้านใช้ประกอบการเรียน ตลอดจนบุคลากรทางการแพทย์และบุคคลที่สนใจทั่วไป

2. ด้านงานบริการ

เวชศาสตร์นิวเคลียร์ จุฬาฯ ตระหนักถึงความสำคัญในคุณภาพของการให้บริการโดยมุ่งเน้นผู้ป่วยเป็นจุดกลางและการดูแลอย่างเอื้ออาทร จึงจัดให้มีโครงการชื่อว่า “สร้างสุขทุกนาที…เพื่อผู้ป่วยเด็กระหว่างการรอตรวจ” ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา   ซึ่งโครงการดังกล่าวทำให้ผู้ป่วยเด็กและผู้ปกครองเกิดความรู้สึกผ่อนคลาย ลดความเครียด ความกลัวและความวิตกกังวล ส่งผลให้ผู้ป่วยเด็กให้ความร่วมมือในการตรวจ

โดยโครงการนี้ได้รับรางวัลชมเชยและรางวัลขวัญใจมหาชน” จากการประกวดโครงการพัฒนาคุณภาพงาน ประจำปี 2562 จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

3. ด้านงานวิจัยและนวัตกรรมสู่ประชาชน

เวชศาสตร์นิวเคลียร์ จุฬาฯ เน้นถึงความสำคัญในพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม โดยเฉพาะ “การพัฒนางานประจําสู่งานวิจัย (Routine to Research)”  ซึ่งผลลัพธ์ของงานวิจัย/นวัตกรรมดังกล่าว จะนำมาซึ่งการปรับปรุงกระบวนการทํางานและการบริการให้ดีขึ้น   ที่ผ่านมาสาขาเวชศาสตร์นิวเคลียร์ได้พัฒนานวัตกรรมเกี่ยวกับอุปกรณ์ในการประคบเย็นสำหรับผู้ป่วย  เรียกว่าหน้ากากประคบเย็น “CARE MASK” โดย ผศ.พญ. คนึงนิจ กิ่งเพชร (อนุสิทธิบัตรเลขที่ 13043)    หน้ากากนี้ใช้สำหรับประคบเย็นบริเวณต่อมน้ำลาย เพื่อช่วยลดอาการปวดและบวมของต่อมน้ำลายที่เกิดการอักเสบจากการรักษาด้วยสารรังสีไอโอดีนในผู้ป่วยมะเร็งต่อมไทรอยด์ลดอาการปวดและบวมของฟันและเหงือกภายหลังการผ่าตัดทางทันตกรรม ลดอาการปวดและบวมบริเวณกรามและคางภายหลังการผ่าตัด โดยที่ผู้ป่วยไม่ต้องใช้มือในการประคองอุปกรณ์ให้ความเย็นในระหว่างทำการประคบ  ทำให้ผู้ป่วยสามารถทำงานหรือกิจวัตรต่างๆได้ในขณะที่ทำการประคบเย็น

โครงสร้างของศูนย์

การให้บริการของศูนย์

1. การตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์

เป็นการตรวจทางรังสีวิทยาซึ่งช่วยในการวินิจฉัยโรคในผู้ป่วยที่มีอาการบ่งชี้ทางคลินิก โดยมีข้อดีที่สำคัญคือสามารตรวจได้ถึงระดับโมเลกุลซึ่งเป็นโครงสร้างที่เล็กที่สุดของร่างกาย แพทย์จึงสามารถตรวจพบความผิดปกติได้ตั้งแต่ระยะแรกเริ่มของโรค และวางแผนการรักษาผู้ป่วยได้อย่างถูกต้องแม่นยำ

การเตรียมตัวก่อนตรวจ การตรวจรักษาทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์มีวิธีการที่หลากหลายตามอวัยวะที่จะตรวจ จึงต้องการการเตรียมตัวที่แตกต่างกัน ผู้ป่วยควรสอบถามข้อมูลจากเจ้าหน้าที่และแพทย์ที่ทำการตรวจรักษา และศึกษาข้อควรปฏิบัติจากเอกสารคำแนะนำให้ครบถ้วนตามการตรวจแต่ละประเภทวิธีการตรวจ

2. การตรวจความหนาแน่นของกระดูก

เป็นการตรวจจะใช้เครื่องที่เรียกว่า Bone densitometer ซึ่งเป็นเครื่องมือการตรวจทางรังสีชนิดหนึ่ง เครื่อง Bone densitometer มีหลายแบบ  แต่ที่นิยมใช้คือแบบที่เรียกว่า Dual Energy X-ray Absorptiometry scanner หรือ DEXA scanner  ตำแหน่งที่ตรวจ คือ บริเวณกระดูกสันหลัง กระดูกสะโพก และบริเวณข้อมือ เนื่องจากบริเวณเหล่านี้เป็นบริเวณที่พบว่ามีการแตกหักของกระดูกจากภาวะกระดูกพรุนได้บ่อย

3. ไทรอยด์คลินิก

มะเร็งต่อมไทรอยด์มีหลายชนิด  แต่ส่วนใหญ่แล้วมะเร็งต่อมไทรอยด์มักเป็น ชนิด papillary  และ follicular  ซึ่งสามารถรักษาได้และผลการรักษาอยู่ในระดับดีมาก ดีมากในทีนี้คือมีรายงานว่า อัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งต่อมไทรอยด์ เป็นระยะ 20 ปี มีสูงถึงประมาณ 80% ซึ่งถือว่าสูงมาก ซึ่งเมื่อเทียบมะเร็งทั่วๆไป การรักษามะเร็งต่อมไทรอยด์ ชนิด จะประกอบด้วย

  • การผ่าตัดต่อมไทรอยด์
  • การรับประทานสารรังสีไอโอดีน : หลังการผ่าตัดต่อมไทรอยด์แล้วต้องรักษาต่อด้วยวิธีการรับประทานสารรังสีไอโอดีน (I-131) ซึ่งปัจจุบันรังสีไอโอดีนมี 2 รูปแบบ คือแบบเม็ดแคปซูล และ ของเหลว   
  • การรับประทานยาฮอร์โมนไทรอยด์ :  หลังการรักษาด้วยสารรังสีไอโอดีน (I-131) ผู้ป่วยจำเป็นต้องรับประทานยาฮอร์โมนไทรอยด์อย่างสม่ำเสมอตลอดชีวิต

วัน/เวลา และสถานที่ให้บริการ

คลินิกในเวลาราชการ

  1. การตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์และการตรวจความหนาแน่นของกระดูก
    ให้บริการ วันจันทร์ – วันศุกร์  เวลา 08.00 – 16.00 น. ที่ อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ ชั้น 2 โซน A
  2. ไทรอยด์คลินิก
    ให้บริการ วันจันทร์ – วันศุกร์  เวลา 08.00 – 16.00 น. ที่ อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ ชั้น 3 โซน A

โครงการตรวจนอกเวลาราชการ

  1. การตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์และการตรวจความหนาแน่นของกระดูก
    ให้บริการ วันจันทร์ – วันศุกร์  เวลา 16.00 – 19.00 น. ที่ อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ ชั้น 2 โซน A

คลินิกพิเศษนอกเวลาราชการ

  1. การตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ การตรวจความหนาแน่นของกระดูกและไทรอยด์คลินิก
    ให้บริการ วันจันทร์ – วันศุกร์ เวลา 16.00 – 19.00 น. วันเสาร์ – วันอาทิตย์ เวลา 08.00 – 12.00 น.
    ที่ อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ ชั้น 2 โซน A

ข้อมูลติดต่อ

ชื่อฝ่าย/ศูนย์

เวชศาสตร์นิวเคลียร์

เบอร์โทรศัพท์

02-256-4000 ต่อ 80233, 80234
02-256-4000 ต่อ 80301, 80302 (ไทรอยด์คลินิก ในเวลาราชการเท่านั้น)

เว็บไซต์หน่วยงาน

ชื่อฝ่าย/ศูนย์

เวชศาสตร์นิวเคลียร์

เบอร์โทรศัพท์

02-256-4000 ต่อ 80233, 80234
02-256-4000 ต่อ 80301, 80302 (ไทรอยด์คลินิก ในเวลาราชการเท่านั้น)

เว็บไซต์หน่วยงาน

บทความที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์เครื่องมือแพทย์

ฝ่ายธนาคารเลือด

งานสนับสนุนศูนย์ความเป็นเลิศและงานวิจัย

ฝ่ายจุลชีววิทยา