โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

Search
Close this search box.

ฝ่ายจุลชีววิทยา

Department of Microbiology 

มุ่งมั่นงานสอนเพื่อผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ สร้างงานวิจัยที่มีคุณภาพ เพื่อการประยุกต์ใช้และสร้างองค์ความรู้ใหม่ และการให้บริการทางห้องปฏิบัติการ ที่ถูกต้อง แม่นยำ รวดเร็ว มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล

ฝ่ายจุลชีววิทยาเป็นหน่วยงานที่มาพร้อมกับการตั้งคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (วันที่ ๓ มิถุนายน ๒๔๙๐) ดังนั้น ฝ่ายจุลชีววิทยาจึงมีประวัติยืนยาวนานกว่า ๗๗ ปี ในระยะแรกๆ จุลชีววิทยาเป็นเพียงหน่วยงานหนึ่งในภาควิชาพยาธิวิทยา ตั้งอยู่ที่อาคารสายหยุด บุนนาค หรือภักไพบูลย์ (เป็นเรือนไม้) ซึ่งได้ถูกรื้อไป และสร้างตึกเวชศาสตร์ป้องกันขึ้นมาแทน 

ต่อมาภาควิชาพยาธิวิทยาได้ย้ายมาที่อาคารพยาธิวิทยา ซึ่งสร้างใหม่เป็นอาคาร ๓ ชั้น (ปัจจุบันถูกรื้อไปแล้ว และสร้างเป็นสนามแทน) จุลชีววิทยาก็ยังเป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีที่ทำการอยู่ที่ชั้น ๑ ของอาคารพยาธิวิทยา ในระยะแรกนั้น จุลชีววิทยาได้บริการเฉพาะการเพาะเชื้อทางด้านแบคทีเรียเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ต่อมามีการศึกษาวิจัยร่วมกับแพทย์ทางทหารของอเมริกา ทำให้งานบริการด้านการติดเชื้อไวรัสเพิ่มขึ้น เนื่องจากการติดเชื้อเป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศเป็นอันดับหนึ่ง ทำให้หน่วยจุลชีววิทยามีงานขยายเพิ่มขึ้น ทั้งทางด้านวิชาการและการให้บริการ ประกอบกับมีพระราชกฤษฎีกาเพิ่มแผนกวิชาในมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์

รางวัล หรือความภาคภูมิใจ

ปี พ.ศ. 2515 – 2520 โครงการการพัฒนาการทดสอบ Autoantibody ต่าง ๆ

ปี พ.ศ. 2524 ศูนย์สเตรปโตคอกคัสแห่งชาติ

ปี พ.ศ. 2527 ก่อตั้งห้องปฏิบัติการ Tissue Typing 

ปี พ.ศ. 2527 การเพาะเลี้ยงเชื้อ Mycoplasma pneumoniae

ปี พ.ศ. 2528 การวินิจฉัยผู้ป่วยเอดส์ 2 รายแรกของประเทศไทย

ปี พ.ศ. 2529 การเก็บตัวอย่างเลือดบนกระดาษซับ

ปี พ.ศ. 2529 วิธีการตรวจหาแอนติบอดีหัดเยอรมันชนิด IgM ด้วยวิธี solid-phase immunosorbent hemagglutination inhibition technic

ปี พ.ศ. 2530 การตรวจวินิจฉัยโรคติดเชื้อ Chlamydia trachomatis, Chlamydophila psittaci และ Chlamydophila pneumoniae

ปี พ.ศ. 2534 – 2535 การศึกษาวิจัยโรคพิษสุนัขบ้าอย่างครบวงจร

ปี พ.ศ. 2534 – 2537 การทดสอบยาต้านไวรัสเอดส์ครั้งแรกของประเทศไทย

ปี พ.ศ. 2536 การตรวจหาเชื้อวัณโรคด้วยเทคนิคพีซีอาร์

ปี พ.ศ. 2536 การพัฒนาวิธีการทดสอบด้านชีวโมเลกุล เพื่อใช้ในการวินิจฉัยโรคติดเชื้อ HIV, HBV, HEV, Dengue virus

ปี พ.ศ. 2537 การทดสอบวัคซีนเอดส์ครั้งแรกในประเทศไทย

ปี พ.ศ. 2542 การทดสอบทางอณูชีววิทยาตรวจ Mycoplasma pneumoniae

ปี พ.ศ. 2543 การวิเคราะห์สปีชีส์ของแบคทีเรียด้วยเทคนิคการหาลำดับเบส

ปี พ.ศ. 2545 การทดสอบทางอณูชีววิทยาตรวจ Chlamydia pneumoniae

ปี พ.ศ. 2550 การพัฒนาการตรวจ HLA-B*15:02 เพื่อป้องกันการแพ้ยา

ปี พ.ศ. 2552 การใช้ NAT (Nucleic AcidTechnology) ในการตรวจคัดกรองโลหิต

ปี พ.ศ. 2555 การใช้เม็ดเลือดขาวทีเซลล์เพื่อรักษาโรคมะเร็งที่เกิดจากไวรัส EBV

ปี พ.ศ. 2555 ไพรเมอร์และวิธีการสำหรับตรวจหาและจัดจำแนกเชื้อ Pythium Insidiosum ในระดับกลุ่มย่อย ด้วยวิธีการวิเคราะห์ของไฮเรสโซลูชั่นเมลติ้ง

ปี พ.ศ. 2562 การให้บริการตรวจ Beta Glucan เป็นแห่งเดียวในประเทศเพื่อตรวจวินิจฉัยการติดเชื้อราอย่างรวดเร็ว

ปี พ.ศ. 2562 การตรวจหาแอนติบอดีของเชื้อ Pythium Insidiosum เพื่อวินิจฉัยโรคการติดเชื้อบริเวณหลอดเลือดแดง และการให้บริการ Immunotherapy เป็นแห่งเดียวในประเทศ

ปี พ.ศ. 2563 ห้องปฏิบัติการแรกในประเทศไทยที่ใช้ขั้นตอนการวินิจฉัยโรคซิฟิลิส แบบ Reverse Algorithm 

ปี พ.ศ. 2563 การพัฒนาวิธีการตรวจ Immuno-Electrophoresis จากผลึก Cryoglobulin เป็นแห่งแรกในประเทศ

เจตจำนง 

มุ่งมั่นงานสอน เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ เพื่อเป็น ผู้นำของสังคม สร้าง งานวิจัยที่มีคุณภาพเพื่อ การประยุกต์ใช้และสร้างองค์ความรู้ใหม่ และการ ให้บริการทางห้องปฏิบัติการ ที่ถูกต้อง แม่นยำ  รวดเร็ว มีคุณภาพตามมารฐานสากล เป็นแหล่งอ้างอิงระดับชาติ

ภาระหน้าที่

  1. ร่วมผลิตแพทยศาสตร์บัณฑิตและผลิตมหาบัณฑิตดุษฎีบัณฑิตที่มีความรู้ทางวิชาการเป็นเลิศ กอปรด้วยคุณธรรม
  2. บริการทางวิชาการแก่หน่วยงานอื่นและชุมชน
  3. บริการที่มีคุณภาพ เป็นที่ยอมรับระดับชาติและนานาชาติ
  4. ผลิตงานวิจัยที่มีคุณค่าระดับชาติละนานาชาติอย่างต่อเนื่อง
  5. ส่งเสริมและดำรงซึ่งวัฒนธรรมและประเพณีอันดีงามของชาติ

โครงสร้างของฝ่ายจุลชีววิทยา

ฝ่ายจุลชีววิทยา แบ่งเป็น

  1. หน่วยแบคทีเรียวิทยา
  2. หน่วยไวรัสวิทยา
  3. หน่วยราวิทยา
  4. หน่วยภูมิคุ้มกันวิทยา
  5. ห้องปฏิบัติการกลาง

หน่วยงานปฏิบัติการเฉพาะเพื่อการวิจัยและพัฒนาที่เป็นเลิศ 

  1. ศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย (ภายใต้ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านโรคมะเร็งครบวงจร)
  2. ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านภูมิคุ้มกันวิทยาและโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน
  3. ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางการวิจัยและพัฒนาวัคซีน
  4. หน่วยปฏิบัติการวิจัยไวรัสวิทยาทางการแพทย์ประยุกต์
  5. หน่วยปฏิบัติการวิจัยการดื้อยาต้านจุลชีพและการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล
  6. หน่วยปฏิบัติการวิจัยในโรคที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบและโรคทางระบบภูมิคุ้มกันวิทยาด้วยการวิจัยแบบปริวรรต

การให้บริการของฝ่ายจุลชีววิทยา

ฝ่ายจุลชีววิทยาให้บริการตรวจทางห้องปฏิบัติการทางจุลชีววิทยา ได้แก่ การตรวจวิเคราะห์เกี่ยวกับแบคทีเรียวิทยา ไวรัสวิทยา ราวิทยา และภูมิคุ้มกันวิทยา โดยให้บริการผู้ป่วยของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ทั้งแผนกผู้ป่วยใน ผู้ป่วยนอก ห้องฉุกเฉิน และหน่วยงานต่าง ๆ จากภายนอก รวมทั้งผู้ตรวจสุขภาพเพื่อเดินทางไปต่างประเทศ ฝ่ายจุลชีววิทยามีห้องปฏิบัติการอยู่ที่ อาคาร อปร ชั้น 15 – 17 และมีห้องปฏิบัติการที่ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ที่อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ ชั้น 3

การให้บริการระหว่างเดือนตุลาคม พ.ศ. 2565 ถึงเดือนกันยายน พ.ศ. 2566 มีการส่งตัวอย่างมาที่ห้องปฏิบัติการเพื่อทำการทดสอบทั้งสิ้น 638,297 การทดสอบ ในปี พ.ศ. 2567 มีการเปิดให้บริการจำนวนทั้งสิ้น 305 รายการทดสอบ โดยได้รับการรับรองความสามารถทางห้องปฏิบัติการตามมาตรฐาน ISO15189:2022 และความปลอดภัยทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ ISO15190:2020 จากสำนักมาตรฐานห้องปฏิบัติการจำนวน 173 รายการทดสอบ

อาคาร อปร ชั้น 15, 16 และ17

วันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 08.00 – 17.00 น.

 

อาคาร ภูมิสิริมังคลานุสรณ์ ชั้น 3 โซน B

เปิดบริการทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง

 

ชื่อฝ่าย/ศูนย์

ฝ่ายจุลชีววิทยา

 

เบอร์โทรศัพท์หน่วยงาน

อาคาร อปร ชั้น 15 – 17  เบอร์โทรศัพท์ 02 256 4471

อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ ชั้น 3 โซน B  เบอร์โทรศัพท์ 02 256 4000 ต่อ 80334

 

ช่องทางการติดต่ออื่น ๆ

http://micro.md.chula.ac.th/

บทความที่เกี่ยวข้อง

ฝ่ายเวชศาสตร์ฉุกเฉิน

ฝ่ายเวชศาสตร์ฟื้นฟู

หน่วยเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ฝ่ายรังสีวิทยา

ฝ่ายเวชระเบียนและสถิติ