โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

Search
Close this search box.

ฝ่ายเวชศาสตร์ครอบครัว

Department of Family Medicine

เป็นต้นแบบทางการแพทย์ปฐมภูมิที่มีคุณภาพและคุณธรรม

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นหน่วยงานของสภากาชาดไทย มีพันธกิจของโรงพยาบาลที่มุ่งเน้นพัฒนาการบริการทางการแพทย์อย่างต่อเนื่องเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี โดยครอบคลุมทั้งการให้บริการรักษาพยาบาล ฟื้นฟูสมรรถภาพ ป้องกันโรค และสร้างเสริมสุขภาพที่เป็นเลิศ รวมไปถึงมุ่งไปสู่การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้พัฒนาด้านวิจัยและวิชาการ

ภายใต้นโยบายการประกันสุขภาพถ้วนหน้า แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวเป็นกลไกขับเคลื่อนที่สำคัญของระบบการบริการสาธารณสุขในประเทศไทย มีบทบาทในการดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวม ดูแลทั้งระดับบุคคล ครอบครัวและชุมชน เน้นทั้งส่วนการดูแลรักษาและการป้องกันโรคหรือภาวะความเจ็บป่วย สามารถตอบสนองระบบบริการสุขภาพของประเทศไทย โดยเมื่อปี พ.ศ. 2558 ได้มีนโยบายของรัฐที่ประกาศให้ทีมแพทย์ครอบครัว (Family Care Team) ออกให้บริการดูแลประชาชน จนกระทั่งถึงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน พ.ศ. 2560 ที่ระบุไว้อย่างชัดเจนในหมวดการปฏิรูปประเทศที่เกี่ยวข้องกับสาธารณสุขว่า “ต้องจัดให้มีระบบการแพทย์ปฐมภูมิที่มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวดูแลประชาชนในสัดส่วนที่เหมาะสม”

ฝ่ายเวชศาสตร์ครอบครัว ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบหลักในด้านเวชศาสตร์ครอบครัวของโรงพยาบาล มีพันธกิจที่ชัดเจนที่จะมุ่งเน้นในการให้บริการรักษาพยาบาลแบบองค์รวม ตามแนวทางแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว เพื่อให้บริการดูแลประชาชน นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อเป็นต้นแบบทางการแพทย์ปฐมภูมิที่มีคุณภาพ

นอกจากให้บริการทางการแพทย์ตามแนวทางการแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวแล้วนั้น ฝ่ายเวชศาสตร์ครอบครัว โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ยังมีหน้าที่รับผิดชอบหลักในการจัดการฝึกอบรม เพื่อผลิตแพทย์เฉพาะทางเวชศาสตร์ครอบครัว ตอบสนองระบบบริการสุขภาพของประเทศไทย

พันธกิจ

  1. ผลิตแพทย์ที่มีความรู้ความสามารถในการบริบาลปฐมภูมิ
  2. ผลิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่เป็นผู้นำและผู้ให้บริการในระบบสุขภาพปฐมภูมิเพื่อให้ประชาชนได้รับการบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพและตอบสนองต่อความต้องการของประเทศ
  3. พัฒนาองค์ความรู้ด้านการบริบาลปฐมภูมิและเวชศาสตร์ครอบครัว ทั้งในด้านการวิจัยและการจัดทำโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพในชุมชน
  4. ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ได้พัฒนาการดูแลสุขภาพของประชาชน ตลอดจนเพื่อให้บุคคลทั่วไปเกิดความรอบรู้ด้านสุขภาพและสามารถดูแลสุขภาพได้ด้วยตนเองอย่างยั่งยืน
  5. ให้การบริบาลสุขภาพปฐมภูมิอย่างเป็นองค์รวมสำหรับประชากรทุกช่วงวัยทั้งภายในและภายนอกโรงพยาบาล
  6. ดำรงไว้ซึ่งคุณค่าอัตลักษณ์ของชุมชน รวมถึงสอดแทรกเรื่องวัฒนธรรมไทยที่มีผลต่อการดูแลสุขภาพและคุณภาพชีวิตของบุคคลและครอบครัวในการจัดการศึกษา การวิจัย และการบริการวิชาการ

เจตจำนง

  1. หน่วยงานต้นแบบทางการแพทย์ปฐมภูมิที่มีคุณภาพและคุณธรรม
  2. ให้บริการรักษาพยาบาลแบบองค์รวมที่มีการพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง
  3. ผลิตบัณฑิตและแพทย์เฉพาะทางที่มีคุณภาพให้สังคม
  4. สนับสนุนการค้นคว้าวิจัย ฝึกอบรม และบริการวิชาการ
  5. มีการบริหารจัดการองค์กรที่คล่องตัว โปร่งใส และมีการพัฒนาคุณภาพของบุคลากร

ภารกิจหน่วยงานที่สนับสนุน

  1. การบริบาลผู้ป่วยนอกระดับปฐมภูมิ
  2. การบริบาลผู้ป่วยต่อเนื่องที่บ้าน
  3. การสร้างเสริมสุขภาพ
  4. การบริบาลมุ่งเน้นชุมชน

โครงสร้างหรือหน่วยงานย่อยของฝ่าย

  1. หน่วยสุขศึกษา สื่อสารสนเทศ และการสร้างเสริมสุขภาพ
    • คลินิกสร้างเสริมสุขภาพ        
    • คลินิกเลิกบุหรี่เพื่อสุขภาพดี (อาคาร ภปร ชั้น 13)  
  2. หน่วยงานเยี่ยมบ้าน
  3. หน่วยบริหารงานทั่วไป (ธุรการ)

การให้บริการของฝ่าย

  1. ให้บริการรักษาพยาบาลในระดับปฐมภูมิ รวมถึงมีการส่งต่อผู้ป่วยอย่างเหมาะสมและทันท่วงที ณ อาคาร ภปร ชั้น 13
  2. ให้บริการการสร้างเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคครอบคลุมไปยังการดูแลสุขภาพตามแบบแผนของเวชศาสตร์ครอบครัว
  3. ให้บริการการรักษาแบบผู้ป่วยนอกและการเยี่ยมบ้าน (Home Health Care)
  4. ฝึกอบรมและบริการทางวิชาการหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตชั้นสูงทางวิทยาศาสตร์การแพทย์คลินิกสาขาเวชศาสตร์ครอบครัว (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2562)
  5. ฝึกอบรมและบริการทางวิชาการแพทย์ประจำบ้าน สาขาเวชศาสตร์ครอบครัว
  6. ฝึกอบรมและบริการทางวิชาการ การเรียนการสอน ตามหลักสูตรนิสิตแพทย์
  7. ฝึกอบรมและบริการทางวิชาการ การเรียนการสอน นักศึกษาพยาบาลสถาบันการพยาบาลศรีสวรินทิรา สภากาชาดไทย หลักสูตรพยาบาลศาสตร์บัณฑิต
  8. ฝึกอบรมและบริการทางวิชาการบุคลากรทางการแพทย์อื่น ๆ 

นายแพทย์สุเมธ ปุญญโชติ
หัวหน้าฝ่ายเวชศาสตร์ครอบครัว

อาจารย์ แพทย์ประจำบ้าน และบุคลากรทางการแพทย์

การให้บริการของหน่วยงานย่อย

1. หน่วยสุขศึกษา สื่อสารสนเทศ และการสร้างเสริมสุขภาพ

  • ให้บริการตรวจรักษาและให้การสร้างเสริมสุขภาพในคลินิกสร้างเสริมสุขภาพ ได้แก่ ผู้ป่วยโรคอ้วน น้ำหนักเกิน กลุ่มโรคเมตาบอลิก บุคลากร/เจ้าหน้าที่ที่ตรวจสุขภาพแล้วพบว่ามีโรคในกลุ่มเมตาบอลิกรายใหม่ ผู้ป่วยโรคติดเชื้อในกลุ่มผู้ประกอบการร้านค้าภายในโรงพยาบาลและคณะแพทยศาสตร์
  • ให้บริการตรวจรักษาผู้ป่วยเสพติดบุหรี่ โดยคลินิกเลิกบุหรี่เพื่อสุขภาพดี (อาคาร ภปร ชั้น 13) โดยรับปรึกษาจากต่างแผนกทั้งผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก ผ่านการสมัครขอปรึกษาโดยการ consult ตามช่องทางปกติ และทาง google form
  • งานกิจกรรมออกบูทและงานรณรงค์ เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนด้านการสร้างเสริมสุขภาพ ได้แก่ งานกิจกรรมรณรงค์วันงดสูบบุหรี่โลก งานวันแม่แห่งชาติ 12 สิงหาคม งานวันพ่อแห่งชาติ 5 ธันวาคม และงานกาชาดประจำปี
  • งานเผยแพร่ความรู้ด้านการสร้างเสริมสุขภาพ ผ่าน Facebook, YouTube และแผ่นพับ

2. หน่วยเยี่ยมบ้าน

  • บริการดูแลผู้ป่วยต่อเนื่องที่บ้านร่วมกับศูนย์บริการสาธารณสุข 55 และศูนย์บริการสาธารณสุข 16 ในวันจันทร์และวันพฤหัสบดีของทุกสัปดาห์ 
  • บริการดูแลผู้ป่วยต่อเนื่องที่บ้านร่วมกับสำนักงานอาสากาชาด สภากาชาดไทย ในวันพุธของทุกสัปดาห์

3. หน่วยบริหารงานทั่วไป (ธุรการ)

  • สนับสนุนงานการเรียนการสอนของนิสิตแพทย์และแพทย์ประจำบ้าน
  • สนับสนุนงานบริการทางการแพทย์และวิชาการของฝ่ายฯ
  • จัดทำเอกสารด้านงานบุคคล งานสารบรรณ งานพัสดุครุภัณฑ์ งานศิลป์ และงานพัฒนาคุณภาพ
  • จัดทำโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ ของฝ่ายฯ และโรงพยาบาล
  • จัดทำเอกสารงบประมาณประจำปีและรวบรวมผลการประเมินการปฏิบัติงานของบุคลากรภายในฝ่ายฯ

อาคาร ภปร ชั้น 13

วันจันทร์ – วันศุกร์ เวลา 08.00 – 16.00 น. ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์

ชื่อฝ่าย/ศูนย์

ฝ่ายเวชศาสตร์ครอบครัว

 

เบอร์โทรศัพท์หน่วยงาน

02 256 4000 ต่อ 3799

 

ช่องทางการติดต่ออื่น ๆ

https://chulalongkornhospital.go.th/fammed

บทความที่เกี่ยวข้อง

ฝ่ายอายุรศาสตร์

ฝ่ายโสต ศอ นาสิกวิทยา

ศูนย์บริหารความเสี่ยงและความปลอดภัยผู้ป่วย

ร้านผลิตภัณฑ์สุขภาพสำหรับผู้สูงวัย (ฬ แคร์)